ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง เริ่มส่อเค้าตั้งต้นในตูนิเซียเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากภายใต้การปกครองในระบบเผด็จการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง เมื่อราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนอยู่แล้ว จนก่อให้เกิดการประท้วงในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ปัญหาความวุ่นวายเริ่มลามจากตูนิเซียไปยังประเทศใกล้เคียงคือ อัลบาเนีย และแอลจีเรีย แม้ว่าใน 2 ประเทศหลังจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ในกรณีของตูนิเซีย ผู้นำประเทศได้ลาออกในวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา การประท้วงดังกล่าวกลายเป็นตัวอย่างให้ประชาชนหลายประเทศในตะวันออกกลางทำตาม การประท้วงจึงลุกลามไปยังประเทศ จอร์แดน โอมาน เยเมน เลบานอน และเกิดการประท้วงสั้นๆ ในซาอุดีอาระเบีย จนกระทั่งในที่สุดเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในอียิปต์ ซึ่งส่งผลให้ประธานาธิบดีต้องลาออกในที่สุด นับว่าเป็นสิ่งผิดความคาดหมาย เนื่องจากประธานาธิบดีมูบารัค ปกครองอียิปต์และครองอำนาจเบ็ดเสร็จเต็มที่มาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี จากอียิปต์เหตุการณ์ยังได้ลุกลามไปอีก 2 ประเทศคือ ปาเลสไตน์ และโมร็อกโก
ประเด็นหลักที่คนส่วนใหญ่กังวลคือ ปัญหาอาจจะลุกลามไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน คูเวต สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิรัก แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีวี่แววว่าปัญหาจะลุกลามไปยังประเทศเหล่านี้ มีเพียงการประท้วงในซาอุดีอาระเบีย แต่ไม่รุนแรงและในช่วงสั้นๆ เท่านั้น สาเหตุหลักก็คือ ประเทศเหล่านี้ (ยกเว้นอิรัก) เป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน โดยเฉพาะคูเวตและสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้น รัฐบาลจึงสามารถดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ซึ่งต่างจากประเทศที่การประท้วงเกิดจากปัญหาความยากจน การว่างงาน และถูกซ้ำเติมจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ส่วนในอิรักนั้น เนื่องจากยังมีปัญหาในตัวเองที่ซับซ้อน จึงทำให้โอกาสที่จะเกิดการต่อต้านรัฐบาลเหมือนอียิปต์มีน้อยมาก ดังนั้น โอกาสที่วิกฤติจะลามไปประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆจึงไม่สูงนักอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในอียิปต์ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าประธานาธิบดีมูบารัคได้ลาออกจากตำแหน่งและผู้นำทางการทหารของอียิปต์ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรมให้เร็วที่สุด แต่ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศยังมีความสับสนและเปราะบางมาก กรณีสถานการณ์ภายในประเทศนั้น ในกลุ่มผู้ประท้วงเองมีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งผมขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มชนชั้นกลางมีการศึกษา ซึ่งเป็นแกนกลางในการจัดการประท้วงโดยผ่านระบบ Internet และ Social Network มีเป้าหมายให้การปกครองของอียิปต์เป็นแบบมุสลิมประชาธิปไตยเหมือนตุรกี กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มภราดรภาพของชาวมุสลิม หรือ The Muslim Brotherhood ซึ่งเป็นองค์การเก่าแก่ จัดตั้งในปี 2471 และมีสาขาหลายแห่งในโลก แม้ว่าจะไม่ใช่กลุ่มหัวรุนแรงแต่ก็มีแนวโน้มและเป้าหมายที่จะนำประเทศไปสู่แนวทางของอิสลาม ถึงแม้ทางกลุ่มประกาศว่าจะไม่ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ แต่แกนนำกลุ่มก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระได้ กลุ่มสุดท้ายก็คือประชาชนทั่วไปที่ยากจนและได้รับความเดือดร้อนจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ